โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

ประวัติความเป็นมา
      โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราชในอดีตพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกมีการทำนามากที่สุด โดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนัง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของลุ่มน้ำ ปากพนัง จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดีของภาคใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักของผู้คนอย่าง กว้างขวางในนาม “เมืองแห่งอู่ข้าว อู่น้ำ”  ปัจจุบัน “ลุ่มน้ำปากพนัง” ที่อดีตเคยอุดมสมบูรณ์ กลับมีปัญหาหลายประการเกิดขึ้นด้วย สาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป คือ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร กลับลดจำนวนลงอย่าง รวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่ป่าเคยดูดซับไว้ ไหลลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วย ปริมาณน้ำจืดที่เคยมี ใช้ปีละ 8–9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือน เท่านั้น เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนัง มีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และมี ความลาดชัน น้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะ ทางเกือบ 100 กิโลเมตร นอกจากนี้ ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนัง ยังมี “พรุควนเคร็ง” ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 200,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีสารไพไรท์อยู่ในชั้นดินทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และปัญหาน้ำเปรี้ยว ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อ การเกษตรได้ รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ได้ไหลลงในลำน้ำต่างๆ จนไม่สามารถนำน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกได้ กลายเป็นปัญหาที่ขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย
อุทกภัยเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของลุ่มน้ำปากพนังที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีปริมาณฝนตกมากๆ แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็น พื้นที่ลุ่มราบเรียบ มีความลาดชันน้อย ประกอบกับภาวะอุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกสู่ทะเล ได้ เกิดภาวะน้ำท่วมทำความเสีย หายให้แก่พื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้างขวาง ดังนั้นโครงการพัฒนาพื้นที่ ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ให้กลับคืนสู่พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการนั้น โดยหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาคือ ให้เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง เพราะเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นงานหลักในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด  กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ   โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำ “อุทกวิภาชประสิทธิ ตั้งแต่ปี 2539  และเมื่อเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2542  จากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างอาคาร ชลประทานอีกหลายแห่งได้แก่   คลองระบายน้ำฉุกเฉินโดยเป็นแห่งที่ 2  ประตูระบายน้ำท่าพญา  ประตูระบายน้ำคลองหน้าโกฏิ  ประตูระบายน้ำคลองปากพนัง (เสือหึง) ประตูระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง  ประตูระบายน้ำคลองลัด  นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างคัน แบ่งเขตน้ำจืดและน้ำเค็ม ตามแนวคันแบ่งเขตห่างจากชายทะเลอีกด้วย


วัตถุประสงค์
      1. เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกรในพื้นที่โครงการโดยวิธีการสหกรณ์ กล่าวคือ ตั้งกลุ่มตามระบบสหกรณ์แบบเสรี หรือการรวมกลุ่มแบบธรรมชาติตามการแยกพื้นที่เลี้ยงกุ้ง (ต้องใช้น้ำเค็ม) กับพื้นที่เพาะปลูก (ใช้น้ำจืด)
      2. เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบอาชีพทำนาข้าว และนากุ้งในพื้นที่แนวฝั่งทะเล
      3. เพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่เกษตรกรในพื้นที่
      4. เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการ


ประโยชน์ที่ได้รับ
      จากการดำเนินการแก้ไขในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยยึดหลักแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่พระราชทานให้ไว้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  ให้มีความกินดีอยู่ดี  มีแหล่งน้ำจืดเพื่อบรรเทาความขาดแคลนน้ำ สำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตรและอื่นๆ ในเขตพื้นที่โครงการและช่วยบรรเทาอุทกภัยทั้งในพื้นที่การเกษตรและในบริเวณชุมชนเมืองโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดผลประโยชน์กับราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำดังนี้
      1) ป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปทำลายพื้นที่การเกษตรในพื้นที่น้ำจืด
      2) คลองระบายน้ำช่วยลดพื้นที่ที่เคยเกิดอุทกภัย เนื่องจากสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น การขุดลอกคลองธรรมชาติ และการกำจัดผักตบชวาในเขตน้ำจืด ทำให้การไหลเวียนของน้ำดีขึ้นประกอบกับการบริหารประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ และประตูระบายน้ำฉุกเฉิน ทำให้สามารถระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ออกสู่ทะเลได้รวดเร็วขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรรมทั้ง 3 อำเภอ คือ ปากพนัง เชียรใหญ่ และหัวไทร
      3) มีแหล่งน้ำจืดประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นประโยชน์กับพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนประมาณ 521,500 ไร่ ในฤดูแล้งประมาณ 240,000 ไร่
      4) การเก็บน้ำจืดในคลองปากพนังด้านเหนือน้ำของประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ สำหรับทำน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ในเขตอำเภอปากพนัง ซึ่งเคยมีปัญหาน้ำประปามีรสกร่อยและมีกลิ่นในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการขยายตัวของระบบประปาในเขตอำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทรในอนาคต จากบริการน้ำประปา 6,300 ครัวเรือน ในปี 2542 เป็น 7,500 ครัวเรือน ในปี 2546
      5) แม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืด
      6) ขจัดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรนากุ้งและเกษตรกรที่ใช้น้ำจืดทำการเกษตร มีการ แบ่งเขตการใช้ที่ดินอย่างชัดเจน
      7) การทำนากุ้งในเขตน้ำเค็มมีการขยายตัว เนื่องมาจากการขุดลอกคลองธรรมชาติในพื้นที่น้ำเค็ม ทำให้ราษฎรมีน้ำเค็มคุณภาพดี สำหรับใช้ในการเลี้ยงกุ้ง และมีการขยายพื้นที่การทำนากุ้งในเขตน้ำเค็มเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2546 - 2547 ได้ทำการขุดลอกคลองธรรมชาติส่วนที่เหลือทั้งหมดแล้ว และจะได้ดำเนินการตามแผนงานด้านส่งเสริมและพัฒนาการประมงต่อไป
      8) ยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของราษฎร
      9) เพิ่มพูนผลผลิตการเกษตรหลากหลายและครบวงจร ทั้งทางด้านการเพาะปลูก การประมง ปศุสัตว์ ฯลฯ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรม
      10) ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำกินในถิ่นอื่น
      11) ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำปากพนังให้กลับคืนเข้าสู่สภาพเดิมในอดีต ราษฎรสามารถทำมาหากินในท้องถิ่นของตนเองอย่างยั่งยืน เนื่องมาจากการบริหารจัดการปิด-เปิด ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ และการรักษาระดับน้ำในแม่น้ำปากพนัง ในระดับที่เหมาะสม ทำให้คุณภาพน้ำด้านเหนือน้ำมีคุณภาพดีขึ้น จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่องของกรมประมง พบว่าทุกดัชนีชี้ว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำปากพนังเป็นน้ำจืดที่เหมาะสมแก่การเกษตรกรรม
      12) ลดปัญหาการเกิดน้ำเปรี้ยวและดินเปรี้ยว น้ำเปรี้ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเกิดขึ้นบ่อยที่บริเวณป่าพรุกุมแป เนื่องจากระดับน้ำในคลองฆ้อง ซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองปากพนังลดลง ทำให้ดินในป่าพรุทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดน้ำเปรี้ยว แต่การควบคุมระดับน้ำในคลองปากพนัง และคลองฆ้องมิให้มีระดับลดลงไปมากจนถึงระดับที่จะทำให้เกิดความเป็นกรด และการก่อสร้างทำนบดินควบคุมระดับน้ำในพื้นที่พรุ ทำให้การเกิดน้ำเปรี้ยวลดลง

 

 
จำนวนผู้เข้าชม
page counter
แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม
www.autoinfo.co.th
www.moac.go.th
money.kapook.com
 
 
 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
“เว็บไซต์นี้ ดำเนินการภายใต้รายวิชา โครงการ  สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ  ปีการศึกษา 2561  ครูสุดฤดี  ประทุมชาติ”